เทศบาลตำบลนาป่า
หน้าหลัก
ITA
LPA
ประกาศจากระบบ e-GP
ประกาศจากระบบ e-GP ในเครือข่าย
เทศบาลตำบล นาป่า ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ
ข้อมูลพื้นฐาน
GENERAL
รู้จัก
เทศบาล
ABOUT US
บุคลากร
/หน่วยงานภายใน
STAFF
การบริหารบุคคล
PERSONNEL
ข่าวสาร
NEWS
บริการ
ประชาชน
SERVICE
ระเบียบ/
กฎหมาย
LAW
แผน
PLANNING
ผลการ
ดำเนินงาน
PERFORMANCE
ติดต่อ
เทศบาล
CONTACT US
 
 

 
 
 
 
การจัดการองค์ความรู้ KM
 


 
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร  
 

            ทำความรู้จัก อ่างเก็บคลองหลวงรัชชโลทร โครงการพระราชดำริที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้ หากเรานึกถึงพระราชกรณียกิจต่างๆของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ย่อมจะมีความทรงจำที่หลากหลาย ด้วยโครงการตามพระราชดำรินั้นมีจำนวนมาก แต่เชื่อได้ว่า หลายคนคงไม่เคยรับรู้ถึงโครงการพระราชดำริโครงการสุดท้าย ที่สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ เป็นโครงการที่ทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวทางที่ทรงพระราชดำริให้ไว้ เป็นประโยชน์แก่มหาชนอย่างแท้จริง


                           โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร
             สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรนั้น ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ต.ท่าบุญ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี โดยกรมชลประทานได้ประกาศวันเริ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2552 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2552 ให้กรมชลประทานดำเนินโครงการ โดยอ่างเก็บน้ำคลองหลวงนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภค ช่วยป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำ รวมทั้งรองรับการพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก อ่างเก็บน้ำคลองหลวงกักเก็บน้ำ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ชลประทาน และเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย
- พื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 44,000 ไร่
- พื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 8,500 ไร่
- ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประมงและพื้นที่อุตสาหกรรม 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

                โครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานให้กับกรมชลประทานเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2525 พระองค์พระราชทานพระราชดำริว่า ควรที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาในการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร อำนวยประโยชน์แก่ชาวไทยทุกพื้นที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และป่า สร้างชีวิตสร้างผลผลิตให้ดีขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นทุกข์จากภัยน้ำท่วมและมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมีความสุข

                การเริ่มต้นก่อสร้างนั้นเริ่มในปี 2553 และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ มีนาคม 2558 จากนั้นเริ่มมีการกักเก็บน้ำ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ประโยชน์ทั้งหมดที่ได้รับจากโครงการนี้ แบ่งเป็นพื้นที่ด้านฝั่งซ้าย 17,000 ไร่นั้น ด้านขวา 27,000 ไร่ รวมทั้งหมด 44,000 ไร่ แบ่งทำน้ำประปาในพื้นที่ ปีละ 13 ล้านคิว น้ำเพื่อการบริโภคประมาณปีละ 5 ล้านคิว ที่เหลือนั้นเป็นการใช้ในส่วนเพื่อรักษาระบบนิเวศและเพื่อการเกษตร

น.ส.กรรณิการ์ สงฆ์เจริญ ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารสาธารณะและภาคีสัมพันธ์ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้บอกเล่าว่า ภารกิจสำคัญของเราคือการเผยแพร่โครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 จุดประสงค์เพื่อให้แนวพระราชดำริ เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นของเรา จึงเชิญสื่อมวลชน ไปร่วมเยี่ยมชมโครงกรพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นงานที่พระองค์ท่านทรงสนพระราชหฤทัยอย่างมาก และพระราชทานแนวทางพระราชดำริไว้จำนวนมาก

                   คนแรกที่มอบที่ดินทำอ่างเก็บน้ำ
นายประจวบ สืบญาติ ได้เล่าย้อนความว่า ในสมัยก่อนนั้นพื้นที่ตรงนี้ไม่มีอ่างเก็บน้ำ เวลาถึงฤดูฝนน้ำจะหลาก พื้นที่ตรงนี้น้ำก็ท่วม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องทำการอพยพ เป็นความเดือดร้อนอย่างมาก เมื่อมีข่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดำริจะสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่นี่ ตนได้มาคิดว่าจะทำอะไรที่จะร่วมสร้างความเจริญ และตอบแทนคุณแผ่นดินถิ่นเกิด จึงได้ตัดสินใจยกที่ดินที่ตนบุกเบิกทั้งหมด เป็นที่ดินหมุดหมายแรกในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แม้ในชั่ววาบความคิดหนึ่ง ก็ยอมรับว่า มีความเสียดายที่ดิน แต่เมื่อมาชั่งน้ำหนักกับการได้ตอบแทนคุณแผ่นดินนี้ รวมทั้งได้ถือว่าสร้างกุศลอุทิศให้บรรพบุรุษของตน กลับรู้สึกอิ่มใจภูมิใจ และทุกครั้งที่มาเห็นอ่างเก็บน้ำก็จะรู้สึกมีความสุขตลอดมา

                     สร้างรายได้สร้างอาชีพ
บ่อตกปลาขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เต็มไปด้วยผู้ชื่นชอบการตกปลา พักผ่อนกับธรรมชาติ สายลมโชยแผ่วคลอไอแดด และแน่นขนัดไปด้วยพืชพรรณผลไม้ต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ นายบุญมี สังวรณ์ กับครอบครัวสร้างขึ้นมา เขาเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้นก็มีอาชีพรับจ้างและงานก่อสร้าง ด้วยพื้นที่ไม่สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก หรือทำกิจเลี้ยงชีพใดๆมากนัก แต่การมาของอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ เขาก็เป็นหนึ่งในชาวบ้านหลายสิบหลายร้อยครอบครัว ที่สามารถตั้งหลักปักเสาเรือนมั่นในบ้านเกิด จากการเพาะปลูกพืชผัก ทั้งทำกินและส่งขาย ขยับขยายมาสู่การขุดบ่อเพาะพันธุ์ปลาขาย ด้วยมีน้ำบริบูรณ์ที่จะทำกิจการดังกล่าว และได้เงินงามตลอดมา จนสามารถทำธุรกิจบ่อตกปลาได้ในที่สุด

                         บ้านมะนาวที่มีมะนาว
อดีตที่ผ่านมา บ้านหนองมะนาว เป็นหนึ่งในหมู่บ้านพื้นถิ่นของ ต.ท่าบุญมี ที่มีชื่อขานตามพืชพันธุ์ที่เคยเติบโต แต่ไม่เคยมีให้เห็นนับตั้งชาวบ้านหลายคนจำความได้ จนต่อมา กรมชลประทาน ที่เข้ามาพร้อมกับการมาของอ่างเก็บน้ำ ได้เข้ามาช่วยเหลือและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และได้นำพันธุ์มะนาวชุดแรกเข้ามา ให้ชาวบ้านทดลองปลูกเพื่อการเรียนรู้และต่อยอดอาชีพ นางไสว ชังดี คือชาวบ้านคนแรกๆที่ได้รับพันธุ์มะนาว จึงได้ทำการเพาะปลูกในสวนหลังบ้าน นับจากวันแรก จนปัจจุบัน นางไสว เพาะพันธุ์ขยายต้นออกไปอย่างกว้างขวาง และสวนหลังบ้านกลายเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะพันธุ์มะนาวประจำตำบล ที่สร้างรายได้เดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท และต่อยอดให้ชาวบ้านหลายคนรับกิ่งไปทำธุรกิจเดียวกันหลายครอบครัว

เช่นเดียวกับ นางภันนิกา ทีปกากร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ประธานกลุ่มเครือข่ายชาวบ้านสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ผนึกกำลังกันต่อยอดจากมะนาวพันธุ์ดี สู่สินค้าประจำตำบลที่หลายหลาก ทั้ง มะนาวดอง สบู่ฟักข้าว ข้าวเกรียบสมุนไพร และมีรางวัลการันตีอย่างมากมาย


                   ธุรกิจแพปลาเพื่อชุมชน
นอกเหนือจากการทำการเกษตรที่สร้างชีวิตให้กับพื้นที่แห่งนี้ รวมทั้งมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และในอนาคตยังจะเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ นั่นคือ อาชีพจับปลา จากเดิมนั้น ชาวบ้านที่นี่ ไม่มีความจัดเจนในการจับปลาน้ำจืด แม้กระทั่งพายเรือก็ไม่เป็น แต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม กลุ่มแปรรูปปลาครบวงจรบ้านหนองแฟบ หรือ แพปลาหมู่ที่ 8 คือตัวอย่างความสำเร็จ โดยสมาชิกกลุ่มได้รวมตัวกัน ก่อตั้งแพปลา ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง รับซื้อปลาจากชาวบ้านที่ออกหาปลาในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งนักจับปลาอาชีพจากต่างถิ่นที่มาลงทะเบียน เป็นผู้รับจับปลาส่งแพ ซึ่งในแต่ละวันจะมีปลาส่งมาต่อเนื่อง และร้านอาหาร ชาวบ้าน ที่ต้องการซื้อปลาก็เดินทางมาซื้อมาหา ปลาสดๆที่ขึ้นมาจากแหล่งน้ำ ในราคาที่ไม่แพง นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงานในแพ โดยมีรายได้คนละ 305 บาทต่อวัน

นี่คือส่วนหนึ่งจากแนวทางพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไว้ให้ ซึ่งประโยชน์ไม่เพียงแต่ให้ประชาชนมีแหล่งน้ำใช้ แต่ยังสร้างประโยชน์มากมายต่อการยังชีพอย่างไม่รู้จบ.

ขอบคุณข้อมูลจาก thaiquote

 

ข่าว ณ. วันที่ 6 พ.ย. 2563 เวลา 14.12 น. โดย งานบริการและเผยแพร่วิชาการ1

ผู้เข้าชม 187 ท่าน

 
 
 
 
 
 
 

สงวนลิขสิทธิ์ © เทศบาลตำบลนาป่า อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 20000
โทรศัพท์ : 0-3805-5499 โทรสาร : 0-3805-5484
จำนวนผู้เข้าชม 12,452,689 เริ่มนับ 22 เม.ย. 2562
จัดทำโดย : NAXsolution.com